วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

3. ดนตรีกับชีวิต

ดนตรีมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวนของมนุษย์ โดยไม่จำกัดเพศ วัย ระดับการศึกษา หรือฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ดนตรีสำหรับบางคนอาจมีวัตถุประสงค์ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด เพื่อความซาบซึ้งไปกับอารมณ์ของบทเพลง บางคนต้องการฝึกฝนอย่างจริงจังเพื่อเป็นนักร้อง นักดนตรี ฯลฯ การมีประสบการณ์ทางดนตรีในลักษณะต่างๆ แต่ละคนจึงมีมุมมองเกี่ยวกับดนตรีในมิติที่แตกต่างกัน อาทิเช่น มิติที่เป็นรูปแบบของศิลปะวัฒนธรรม มิติที่เป็นรูปแบบของความคิดและจินตนาการ มิติที่เป็นรูปแบบของนันทนาการและการบันเทิง มิติที่เป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง มิติที่เป็นหลักสูตรการศึกษา มิติที่เป็นสุนทรียภาพ มิติที่เป็นสื่อธุรกิจ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ข้อค้นพบจากการศึกษาวิจัยในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ผ่านมาสามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีกับชีวิตได้ชัดเจนมากขึ้น มุมมองเกี่ยวกับดนตรีในมิติที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิต จึงกำลังเป็นที่สนใจ มีการขยายผล นำไปประยุกต์ใช้ และค้นคว้าทดลองอย่างจริงจังในปัจจุบัน ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีกับชีวิตมีประเด็นการศึกษา ดังต่อไปนี้

3.1 มหัศจรรย์แห่งสมอง (ศันสนีย์, 2542)
สมองประกอบด้วยเซลล์ประสาทจำนวนแสนล้านเซลล์ เซลล์ประสาทเหล่านี้จะติดต่อสื่อสารกันโดยใช้ระบบสารเคมีและประจุไฟฟ้า ผ่านเส้นใยประสาทที่ทำหน้าที่รับข้อมูลเข้าและส่งข้อมูลออกทางจุดเชื่อมต่อ (Synapse) การทำงานของสมองจะทำงานกันเป็นกลุ่ม คือ เซลล์ประสาทจะมารวมกันเป็นกลุ่มแล้วทำหน้าที่หนึ่งอย่าง การที่เซลล์ประสาทมีการติดต่อสื่อสารถึงกัน ทำให้เกิดการทำงาน มีกระแสไฟฟ้าอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากการทำงานและกระแสไฟฟ้านี้หยุดไป เซลล์ประสาทและจุดเชื่อมต่อก็จะตายไป เซลล์ประสาทที่ได้รับการกระตุ้นก็จะมีการสร้างเครือข่ายเส้นใยประสาทและจุดเชื่อมต่อมากขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานของสมองในหน้าที่นี้ก็จะมีมากขึ้นไปด้วย สมองจะควบคุมลักษณะทางสติปัญญา ความคิด การเรียนรู้ ความฉลาด บุคลิกภาพ และลักษณะทางกายภาพอื่น เช่น การทำงานของหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบอวัยวะของร่างกาย และฮอร์โมนต่างๆ การพัฒนาสมองสามารถกระตุ้นได้จากสิ่งแวดล้อมและการเรียนรู้

3.2 ดนตรีกับสมอง
ทัศนคติหรือความเชื่อที่ว่า ความสามารถทางดนตรีเป็น "พรสวรรค์" ที่มีมาแต่เดิม ปัจจุบันได้เปลี่ยนไป ดนตรีปลูกฝังให้เกิดขึ้นได้ เพราะสมองพร้อมที่จะรับข้อมูลทางดนตรีอยู่แล้ว การทดลองในประเทศเยอรมัน (Stefan Koalsch, and et al, 2000) โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับ "ดนตรีศึกษา" และไม่เคยเล่นเครื่องดนตรีชนิดใด ฟังชุดของคอร์ด (Chord Series) ในบันไดเสียงต่างๆ ที่ผู้วิจัยจัดให้มีความต่อเนื่องที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดไม่สามารถแยกความแตกต่างดังกล่าวได้ แต่จากการตรวจสอบคลื่นไฟฟ้าในสมอง พบว่า มีปฏิกิริยาตอบรับกับชุดของคอร์ดที่เหมาะสม และมีปฏิกิริยาต่อต้านชุดของคอร์ดที่ไม่เหมาะสม แสดงให้เห็นว่าสมองสามารถรับข้อมูลและแยกแยะข้อมูลเกี่ยวกับดนตรีได้ ข้อค้นพบใหม่อีกประการหนึ่งก็คือ ความสามารถทางดนตรีไม่ได้เกิดจากการทำงานของสมองข้างขวาตามที่เข้าใจ แต่เป็นการร่วมมือประสานกันของสมองทั้งสองข้าง โดยผลัดกันทำหน้าที่ตามลักษณะของดนตรี เปรียบเทียบได้กับการบรรเลงดนตรีในวงซิมโฟนีออร์เคสตร้า (Editor, 1994) นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า การฝึกปฏิบัติเครื่องดนตรีของเด็ก (เริ่มฝึกตั้งแต่อายุต่ำกว่า 10 ปี) จะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเพิ่มขนาดของพื้นผิวสมอง (Cortex) ซึ่งจะทำให้เด็กมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ได้เร็วยิ่งขึ้น (Editor, 1995) การสำรวจสภาวะของสุขภาพและการมีอายุยืนยาว (Longevity) ของประชาชนในประเทศสวีเดน พบว่า การเล่นดนตรีหรือการร่วมขับร้องเพลงในวงขับร้องประสานเสียงมีความสัมพันธ์ทางบวกกับสุขภาพและการมีอายุยืนยาว (Lars Olov Bygren. et al, 1996) การใช้ดนตรีบำบัด (Music Therapy) ช่วยให้ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุทางสมองทำให้ไม่สามารถพูดได้กลับมาพูดได้อีกครั้ง (Pascal Belin, 1996) เป็นต้น